การใช้ชีวิตของทุกคนรวมถึงพืชและสัตว์ ต้องมีเรื่องของคุณภาพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกครั้งเมื่อสูดหายใจร่างกายจำเป็นต้องได้รับปริมาณออกซิเจนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการสูดสารพิษ สารอันตราย (สูดสารอื่นให้น้อยที่สุด) ด้วยเหตุนี้การสร้างคุณภาพอากาศภายในอาคารและบริเวณโดยรอบ หรือ IAQ (Indoor Air Quality) จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสุขภาพที่ดี และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

IAQ (Indoor Air Quality) คืออะไร

IAQ (Indoor Air Quality) คือ คุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นภายในอาคาร รวมถึงบริเวณโดยรอบของตัวอาคารดังกล่าว มีการกำหนดค่าเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ควบคุมไม่ให้มีมลพิษ สารเคมี หรือสารอันตรายอันอาจสร้างปัญหาต่อร่างกาย เกิดโรคภัย ซึ่งคุณภาพอากาศภายในอาคารได้รับการกำหนดจากปริมาณความเข้มข้นของสารอันตรายและมลพิษต่าง ๆ ทั้งนี้คำว่าคุณภาพอากาศภายในอาคารยังบ่งบอกถึงปริมาณก๊าซ ฝุ่นละออง อุณหภูมิ และความชื้นที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น ๆ
คุณภาพอากาศภายในอาคารที่ไม่ดีเกิดได้จากหลายสาเหตุ

แม้จุดประสงค์ของการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ต้องการอากาศบริสุทธิ์ หายใจเข้า-ออกได้แบบเต็มปอด แต่เมื่อมองไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ไม่ดีสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ควันบุหรี่มือสอง การเผาไหม้จากควันไฟทำอาหาร ไปจนถึงยาจุดกันยุง ธูป กลิ่นน้ำยากำจัดแมลง ยาฉีดยุง เชื้อรา เรดอน สารคาร์บอนมอนนอกไซด์จากท่อไอเสีย สารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่กลิ่นการทำอาหาร กลิ่นมูลสัตว์ ก็ถือเป็นคุณภาพอากาศที่ไม่ดีเช่นกัน
IAQ (Indoor Air Quality) คือส่วนหนึ่งของ EIQ (Indoor Environmental Quality)
จากความหมายที่ระบุไปจึงเห็นชัดเจนว่า IAQ (Indoor Air Quality) ถือเป็นส่วนหนึ่งของ EIQ (Indoor Environmental Quality) หรือ คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายในอาคาร (ซึ่ง EIQ ยังมีปัจจัยอื่นเพิ่มเติม เช่น แสงสว่าง ระดับเสียง ระดับความร้อนภายในอาคาร ฯลฯ ซึ่งอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน) ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพอากาศจึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ใช่แค่การเลือกใช้อุปกรณ์ตัวช่วยอย่างเครื่องฟอกอากาศ แต่ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณภาพอากาศไม่ดีออกไป

ผลกระทบที่เกิดจากคุณภาพอากาศในอาคารไม่ดี

เมื่อร่างกายคนเราจำเป็นต้องได้รับอากาศบริสุทธิ์ แต่ถ้าหากคุณอาศัยอยู่บริเวณที่คุณภาพอากาศไม่ดีพอ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อันหมายถึงเรื่องของสุขภาพและอื่น ๆ ที่จะตามมา ดังนี้

1. ผลกระทบระยะสั้น

ผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ทันทีเมื่ออยู่บริเวณที่คุณภาพอากาศไม่ดี เช่น ความระคายเคืองหู ตา จมูก ลำคอ อาการปวดศีรษะ หายใจไม่ออก น้ำมูกไหล มีเสมหะ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื้องต้นหากได้รับการรักษาอาการก็สามารถทุเลาลงได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรจัดการกับต้นเหตุของอากาศแย่ ๆ ด้วยเช่นกัน

2. ผลกระทบระยะยาว

หากร่างกายยังต้องพบเจอกับคุณภาพอากาศไม่ดีอย่างต่อเนื่อง การแสดงออกที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ความระคายเคืองแบบเดิมแต่มีสิทธิ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรงและอันตรายมากขึ้น เช่น ต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งบางประเภท (มะเร็งปอด มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งลำคอ ฯลฯ) โรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ วัณโรค เป็นต้น สภาพร่างกายทรุดโทรม และอาจถึงขั้นเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้เลย
สถานที่ที่ควรมี IAQ ที่ดีเพื่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

หากจะบอกว่าทุกสถานที่ควรมี IAQ (Indoor Air Quality) หรือคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ดีคงไม่ใช่เรื่องผิดนัก แต่ในความเป็นจริงด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่คาดหวังได้ อย่างไรก็ตามอย่างน้อยที่สุด สถานที่เหล่านี้ก็ควรมี IAQ เช่น ห้องนอน โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้องสมุด สถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียน บ้านพักผู้สูงอายุ หรือถ้าพบว่าสภาพอากาศภายในอาคารยังไม่ดีพอก็ต้องมีตัวช่วยเพิ่มเติม เช่น เครื่องฟอกอากาศ การปลูกต้นไม้ เปลี่ยนจากการใช้เตาถ่านเป็นเตาแก๊ส เป็นต้น
ไม่ว่าใครต่างก็อยากอยู่อาศัยในบริเวณที่มีคุณภาพอากาศชั้นยอด วิธีเริ่มต้นอย่างง่ายเพื่อให้ IAQ (Indoor Air Quality) อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมจึงต้องมาจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน รวมถึงการให้ความร่วมมือของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อคุณภาพอากาศในอาคารดี สุขภาพก็ดีตาม สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข